Nonsense
(non)sense ?
โลกที่เคลื่อนไหวอยู่รอบตัวในรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส เป็นสิ่งที่ทําให้เราเชื่อมต่อประสบการณ์ของตนเองเข้ากับประสบการณ์ร่วมของสังคม การรับรู้ดังกล่าวไม่อาจอธิบายได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือหลักการเหตุผลเท่าไหร่นัก เนื่องจากเป็นการรับรู้โลกในลักษณะนามธรรมที่เคว้งคว้าง เป็นความรู้สึกซ่อนลึก และหยั่งลงไปในรูปการณ์จิตสํานึกของผู้คนตลอดเวลา
การทําความเข้าใจผัสสะทั้ง 5 เปรียบเสมือนการสร้างห้องปฏิบัติทางสื่อศิลปะรูปแบบหนึ่ง สื่อศิลปะในแง่นี้มิใช่เกิดขึ้นลอยๆ ไร้ราก หากสร้างขึ้นมาจากประสบการณ์ทางสังคม และวัฒนธรรม ตลอดจนข้อถกเถียงจากปรากฏการณ์ร่วมสมัยต่างๆ ด้านหนึ่งผัสสะของเราเชื่อมโยงกับกับอํานาจที่มองไม่เห็น และถูกทําให้เกิดการรับรู้อย่างเป็นธรรมชาติ การยอมรับ และสยบยอมต่ออํานาจจึงเกิดจากการถูกฝึก และขัดเกลาอย่างอัตโนมัติ
สิ่งที่เรามักพูดว่า (make)sense จึงเป็นคําอันเป็นบ่อเกิดของประสบการณ์ร่วมของผู้คน แต่ขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงอํานาจที่ปกคลุมสังคมจนไร้ช่องว่างในการตั้งคําถาม ผู้คนไม่สามารถหลุดออกไปจากชีวิตประจําวัน แต่ถูกรัดรึงไปด้วยอํานาจนานาชนิด หนทางหนึ่งที่พอทําได้คือการทําให้ความเป็นธรรมชาตินั้น สะดุด เหลวไหล ไร้สาระ และไร้ระเบียบ สภาวะ (non)sense นี้เองน่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียกตัวเองว่าเป็นมนุษย์ได้รู้จักกับปฏิบัติการณ์อันไร้สาระ ซึ่งอาจสร้างความกระอักกระอ่วน และเสียดแทงอํานาจที่มีอยู่ในสังคม ตลอดจนการสร้างพื้นที่ของการตั้งคําถาม และการต่อต้านอุดมการณ์ที่ครอบงําสังคมเอาไว้
ปฏิบัติการณ์เหล่านี้กำลังบ่งบอกถึงแนวทางการทํางานทางศิลปะที่เชื่อว่า ศิลปะนั้นไม่ได้เป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของสังคม แต่ศิลปะอยู่ทุกอณูของสังคม
มาสร้างความไร้สาระบนฐานความคิดไปพร้อมกัน ปลุกให้ความพร่าเลือน ความมืดบอดที่ซ่อนอยู่ภายใต้การมองเห็น ระดมกลิ่นที่เหม็นหืนของสังคมที่น่าขยะแขยง จนกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในรสชาติที่สะอิดสะเอียน สร้างเสียงที่พยายามจะหลุดลอดออกมาจากมุมใดมุมหนึ่ง สิ่งเหล่านี้จะหวนกลับมาอีกครั้ง ไม่ว่าจะสมบูรณ์แบบหรือผิดเพี้ยน จะเป็นธรรมชาติหรือไม่เป็นธรรมชาติก็ตาม
สลายสิ่งที่เรา (make)sense
และเต้นรำภายใต้ความ (non)sense ไปด้วยกัน