Post Image

หนูอยากโดนอุ้ม

คำว่า ‘หนูอยากโดนอุ้ม’ ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นหัวข้อของนิทรรศการในครั้งนี้ ซึ่งตัวความหมายและบริบทของหนูอยากโดนอุ้มนั้นได้มีการเล่นล้อกับเหตุการณ์หรือสภาวะที่เกิดขึ้นในสังคมไทยช่วงเวลาหนึ่งเมื่อพูดถึงการ โดนอุ้ม นั่นคือลักษณะของวัตถุบางอย่างถูกเคลื่อนย้ายให้ออกไปจากพื้นที่เดิมที่วัตถุนั้นเคยดำรงอยู่ ซึ่งในแง่ของการโดนอุ้มนั้นเป็นรูปแบบของความสัมพันธ์ที่แบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือมีผู้อุ้มมีลักษณะเป็นอัตวิสัยและ ผู้ถูกอุ้มมีลักษณะเป็นวัตถุวิสัย สิ่งที่เห็นได้ชัดของสถานะทั้งสองฝ่ายคือ ผู้ที่อุ้มจะมีอำนาจเหนือกว่าผู้ถูกอุ้ม ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของอำนาจในการควบคุมหรือการออกคำสั่งที่ทำให้บุคคลที่โดนอุ้มนั้น กลายสถานะเป็นเพียงแค่วัตถุชิ้นหนึ่งในอีกความหมายถึงคือการทำให้หายไปด้วยอำนาจบางอย่าง ทั้งนี้การโดนอุ้มในอีกชุดความหมายหนึ่งคือการอุปถัมภ์อุ้มชู, การโอบอุ้มด้วยความรัก เช่น การอุ้มลูกของพ่อกับแม่ เป็นต้น

 

ในงานศิลปนิพนธ์นี้เองก็เป็นสิ่งที่เราต้องการที่จะเล่นกับคำว่า “อุ้ม” ระหว่างความหมายสองสิ่งนี้ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเรานั้นต้องการโดนอุ้ม โดนจับในฐานะของการทำให้หายไป หรือการโดนกระทำของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เกิดขึ้น เพียงแต่เป็นการให้ความสนใจในการตั้งคำถามกับสังคม และเป็นการจับกระแสสังคมที่มีอยู่ไม่ว่าจะยุคหรือสมัยใด การโดนอุ้ม ก็ไม่ควรเป็นการโดนอุ้มที่หายไป เช่นเดียวกับหัวข้องานศิลปะนิพนธ์แต่ละงานที่ไม่ได้พูดถึงเพียงเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์หรือวิเคราะห์กันแค่ในเชิงอำนาจหรือวาทกรรม ที่เกี่ยวกับคำว่าอุ้มในเชิงการเมืองเท่านั้น แต่ยังได้ตีความคำว่าอุ้มออกมาในรูปแบบการให้ความสนใจและการเรียกร้องให้สังคมหันมาสนใจ เพื่อที่จะจับหรือสะท้อนกระแสสังคมในเรื่องที่ต่างกันออกไป เช่น ประเด็นทางเรื่องศาสนา, วัฒนธรรมกระแสหลักและวัฒนธรรมย่อยที่มีอยู่ในสังคมไทย, วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาติพันธ์ุ, ประเด็นเรื่องอัตลักษณ์, การรื้อถอนโครงสร้างทางสังคมเพื่อมาทบทวนกันใหม่, การรับรู้ทางด้านผัสสะ รวมไปถึงการสร้างนวัตกรรมทางศิลปะและอื่นประเด็นอื่น ๆ เช่นกัน

 

เราจึงอยากจะใช้วิธีการล้อเล่น ล้อเลียน โดยธรรมชาติของเราในการนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ที่สะท้อนความเป็นไปของสังคม เช่นเดียวกับเพลง “หนูอยากโดนอุ้ม” ร้องโดยแมงปอ ชลธิชา ในอัลบั้มชุด นางสาวแนนซี่เมื่อปี พ.ศ.2547 โดยเนื้อร้องนั้นให้ความตลกร้ายในสังคมไทย หญิงสาวที่อยากโดนอุ้มด้วยความรัก เปรียบเทียบและประชดกับการ โดนอุ้ม ในบริบทอื่นของสังคมในยุคนั้นของประเทศไทย ที่มีการอุ้มทนายหรือนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างหายสาบสูญไป

 

ทำไมถึงเกิดการ “อุ้ม” บริบทรอบข้างว่ามันเป็นอย่างไร ซึ่งพื้นฐานทางความคิดของมนุษย์ที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์การอุ้มนั้น สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือความกลัว และสถานภาพของการไร้อำนาจ (powerless) ส่ิงที่ตามมาคือสภาวะของความไม่รู้ร้อนรู้หนาว (Apathy) เพราะเรารู้ว่าเราไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ มันเกิดขึ้นเพราะผู้คนส่วนใหญ่กำลังปล่อยให้ความอยุติธรรมที่เป็นความผิดปกติทางสังคมให้มันทำงานโดยที่ผู้คนในสังคมไม่ได้เข้าไปมีส่วนในการที่จะระงับมัน เนื่องจากโดยส่วนใหญ่นั้นมนุษย์ มีความกลัวในผลที่ตามมาภายหลัง เมื่อเราเข้าไปมีส่วนของการกระทำบางอย่างความกลัวในอำนาจที่ซ่อนอยู่ก็จะตามมา คือความกลัวในความมั่นคงของตัวเอง ส่ิงที่น่ากลัวที่สุดคือการที่เรากำลังทำให้มันกลายเป็นเรื่องปกติ ซึ่งสังคมที่ต้องการความสงบนั้นมักจะทำให้มันหายไปเอง แล้วสุดท้ายนั้นคือการที่ผู้กระทำผิดนั้นไม่ได้รับผลของการกระทำของตัวเองและหลังจากนี้ก็จะเกิดการทำงานของความยุติธรรมและอยุติธรรมขึ้นมาโดยปราศจากกลไกในการควบคุมและอาจทำให้เกิดสภาวะของการยื้อยุดฉุดกระชากให้ได้มาซึ่งจุดสูงสุดที่จะมีสิทธิ์ในการกำหนดทิศทางของความคิด

 

ในขณะเดียวกันรูปแบบของการอุ้มนั้นเป็นการท้าทายอำนาจและการลดศักดิ์ศรีความเป็นคนมันเกี่ยวข้องกับข้อยึดถือระบบคุณค่าของสังคม คือการที่เรามองผู้อื่นไม่ได้อยู่ในสถานะที่เท่าเทียมกับเรา เป็นการใช้สายตาของเรามองต่ำลงที่มองเขาว่าไม่มีคุณค่าหรือมีศีลธรรมที่เทียบเท่ากับตัวเราเองเป็นสายตาที่ล้อเลียนถากถางและลดทอยความเป็นมนุษย์ด้วยกันเอง การล้อเล่นมันอยู่แค่ระดับวัฒนธรรมเฉพาะ ไม่ใช่เป็นสิ่งสากลและมันยากสำหรับคนที่อยู่กันคนละวัฒนธรรม เราต้องเรียนรู้ร่วมกันในสังคมสังคมหนึ่งและเป็นการที่ท้าทายศีลธรรมบางอย่างที่มีอยู่ในสังคม โดยที่การเล่นนั้นถูกใช้กับอำนาจเพื่อลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับการอุ้ม เพราะคนที่ถูกอุ้มนั้นตกอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่าเรา และในการเล่นกับการเมืองมีลักษณะที่เป็นการท้าทายอำนาจและการลดศักดิ์ศรีความเป็นคน มันเกี่ยวข้องกับข้อยึดถือระบบคุณค่าของสังคม คือการที่เรามองผู้อื่นไม่ได้อยู่ในสถานะที่เท่าเทียมกับเรา เป็นการใช้สายตาของเรามองต่ำลงที่มองเขาว่าไม่มีคุณค่าหรือมีศีลธรรมที่เทียบเท่ากับตัวเราเอง เป็นสายตาที่ล้อเลียนถากถางและลดทอยความเป็นมนุษย์ด้วยกันเอง ในความเป็นสังคมจะต้องเป็นสิ่งที่มาเติมเต็มตัวปัจเจกบุคคลพื้นฐานของสังคม คือการกระทำของความยุติธรรมที่ต้องเกิดขึ้นจริงโดยไม่ผ่านอคติของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

 

ถ้าการ “โดนอุ้ม” เป็นการกระทำที่ไม่ใช่แค่การถูกทำให้หายไปแต่เป็นการ “อุ้ม” คนที่ “ถูกอุ้ม” ในความหมายคำว่าอุ้มชูหรือ “ความใส่ใจ” โดยไม่ได้ทำให้หายไปจากบริบทหนึ่งหรือหายไปจากสังคม การมองที่เห็นว่าความสำคัญของการมีอยู่นั้นย่อมมีค่ามากกว่าการหายไป

 

สุดท้ายในความหมายของหนูอยากโดนอุ้มในหัวข้อนิทรรศการในครั้งนี้เป็นเพียงการเล่นล้อ การเสียดสีและการสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจบางอย่างและเหตุการณ์ในสังคม เพราะเมื่อพินิจจากนัยยะและบริบทแล้วสิ่งที่นิทรรศการนี้ต้องการจะสื่อก็คือแท้จริงแล้วคงไม่มีใครอยากโดนอุ้มหายไปไหน และสิ่งที่อยากให้หายไปจริง ๆแล้วนั้น คือพลังอำนาจที่คอยปิดกั้นหรือควบคุมพื้นที่หรือเนื้อหาในสังคมต่างหากที่ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากัน เพื่อที่จะพูดหรือคิดและต้องไม่มีการถูกทำให้หายไปไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม และหากพูดถึงงานศิลปะในอดีตมันถูกคงสถานะเป็นเพียงแค่วัตถุของผู้รับชมเพียงเท่านั้น แต่ในงานศิลปะนิพนธ์ในครั้งนี้ มีความพยายามที่จะทำให้ผู้ชมสามารถตีความได้เองความความเข้าใจของแต่ละบุคคล ซึ่งการตีความนั้นอาจจะเป็นไปได้หลากหลายความหมาย ตามบริบท ความเข้าใจ สภาวะแวดล้อมของตัวชมเองซึ่งเป็นปัจเจก เหมือนกับเพลงหนูอยากโดนอุ้มที่ผู้ฟังนั้นสามารถตีความไปได้หลากหลายความหมาย ไม่ว่าจะในเชิงเล่นล้อและเสียดสีสังคมก็ตาม